หนังสือ
สถาปัตยกรรมวัดมอญในพม่าตอนล่าง
เล่มที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โชติมา จตุรวงศ์

            วัดมอญในเมาะละแหม่ง ช่วงคริสตวรรษที่ 19 ถึง 20 (พุทธศตวรรษที่ 24 ถึง 25) สร้างโดยพ่อค้าไม้สักและพ่อค้าข้าว เนื่องจากพม่าตอนล่างไม่มีพระมหากษัตริย์ปกครองภายหลังจากตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ.1826 (พ.ศ.2369) เมืองเมาะละแหม่งเป็นเมืองหลวงของพม่าตอนล่างตั้งแต่ปีค.ศ. 1829 ถึง ค.ศ. 1862 (พ.ศ.2372 ถึง 2405) และเป็นศูนย์กลางการค้าไม้สักและการค้าข้าว การศึกษานี้พยายามที่จะหาลักษณะของสถาปัตยกรรมวัดมอญที่เมาะละแหม่งระหว่างช่วงคริสศตวรรษที่ 19 ถึง 20 (พุทธศตวรรษที่ 24 ถึง 25)

ถึงแม้ว่าวัดมอญจะมีเป็นจำนวนมากในประเทศไทยแต่วัดเหล่านี้มักสร้างเลียนแบบวัดไทย งานวิจัยเน้นที่จะศึกษาวัดมอญในเมืองเมาะละแหม่งและหมู่บ้านมอญในเมาะละแหม่งอันได้แก่บ้านกะโดและบ้านกอนัต สถาปัตยกรรมสังฆิกวิหาร (ที่อยู่ของพระสงฆ์) มอญ ในเมาะละแหม่งมีลักษณะร่วมกันหลายประการกับสถาปัตยกรรมสังฆิกวิหารพม่าในพม่าตอนบนและเรือนมอญในภาคกลางของไทย แต่สังฆิกวิหารมอญในเมาะละแหม่งสร้างด้วยอิฐขณะที่สังฆิกวิหารพม่าในพม่าตอนบนสร้างด้วยไม้ บันไดทางขึ้นหลักของสังฆิกวิหารมอญมักตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือคล้ายกับตำแหน่งบันไดทางขึ้นของเรือนมอญในภาคกลางของไทย

วัดมอญยังประกอบด้วยวิหาร อุโบสถ และเจดีย์ วิหารมอญมีความสำคัญและแตกต่างจากวิหารไทย ส่วนอุโบสถมอญในอดีตเป็นที่ทำสังฆกรรมร่วมกันของพระสงฆ์จากหลายวัด แต่ปัจจุบันแต่ละวัดมีอุโบสถของตนเอง เจดีย์มอญที่เมาะละแหม่งมีลักษณะคล้ายเจดีย์มอญในภาคกลางของไทย นอกจากอธิบายลักษณะของสถาปัตยกรรมวัดมอญในเมาะละแหม่งแล้ว งานวิจัยนี้ยังพยายามที่จะสะท้อนสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมในพม่าตอนล่างขณะนั้นด้วย อันได้แก่ ลักษณะทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา พุทธศาสนา และความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและไทย